สมอง ถือว่าเป็นอวัยวะที่เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของร่างกาย เพราะเป็นส่วนที่มีหน้าที่ควบคุมส่วนต่างๆของร่างกายเกือบทั้งหมด เมื่ออายุมากขึ้นบวกกับปัจจัยอื่นๆ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆก็ต่างถาโถมเข้ามา มีหนึ่งโรคที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต่างพากันเป็นโรคนี้ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมนั่นเอง เมื่อกาลเวลาผ่านไป สมองก็เสื่อมสภาพแบบค่อยเป็นค่อยไปตามกาลเวลาและรูปแบบการใช้งาน และแสดงออกทางร่างกายในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น อาจจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีอาการขี้หลงขี้เริ่มและเริ่มเป้นหนักมายิ่งขึ้นเรื่อยๆ สับสนเรื่องสถานที่ เวลาและผู้คนต่างๆ ใช้ภาษาที่ผิดปกติไปจากเดิม อาการเหล่านี้เริ่มส่อแววให้เห็นว่าเป็นอาการของโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง
วันนี้เราจึงมี 10 วิธีป้องกันโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมมาฝากทุกคน เพื่อที่จะได้นำไปดูแลญาติผู้ใหญ่ที่บ้านได้อย่างดี ถ้าพร้อมแล้วเราลองไปดูกันได้เลย
โรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อม เกิดจากอะไร?
สาเหตุของการโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมเกิดจาก การที่โปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid)ซึ่งเป็นผลจากของเสียที่เกิดจากการสันดาปของเซลล์ มีการตกตะกอนและไปจับกับเซลล์สมอง รวมถึงเส้นใยที่คอยเชื่อมต่อส่วนของสมอง
และเซลล์พีเลี้ยงของสมอง ส่งผลให้เกิดความเสียหายที่ส่วนของสมอง ทำให้สมองเสื่อมและฝ่อลง ส่งผลไปถึงการสูญเสียส่วนของเนื้อในสมอง โดยเริ่มจากการทำลายสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ
ผู้ป่วยจึงจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำยิ่งโดยเฉพาะความจำระยะสั้นและแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสมอง
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ อายุที่มากขึ้นจะสามารถพบได้มากขึ้นเป็นสองเท่าทุกๆ 5 ปีนับจากที่อายุมากกว่า 60 ปี ดังนั้นเนื่องจากในปัจจุบันนี้คนเรามีอายุยืนขึ้น โรคนี้จึงพบได้มากขึ้นเรื่อย ๆเช่นกัน
สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์
- เริ่มมีอาการหลงลืมในเรื่องต่างๆ เริ่มต้นจากการเริ่มลืมในเรื่องเล็กๆที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นการลืมนัด ลืมสิ่งของ ลืมวันสำคัญหรือเหตุการณสำคัญ ไม่สามารถจำคำพูดหรือเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปได้ ต้องมีการถามซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือต้องมีการพึ่งการจด เช่น การใช้คนในครอบครัวคอยเตือนหรือการใช้สมุดในการจด
- รู้สึกสับสนกับสถานที่ ฤดูกาล ทิศทางหรือเวลาในขณะหนึ่ง เช่น ลืมสถานที่ที่ตัวเองอยู่ในตอนนี้หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆอย่างไร ไม่รู้หรือลืมเวลา ทิศทาง
- ความสามารถในการตัดสินใจลดลงหรือสูญเสียไป ไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเองหรือเรื่องที่สำคัญได้
- สูญเสียความสามารถในการจัดการและการวางแผนในเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถทำงานหรือสิ่งต่างๆเป็นขั้นตอนได้ หลงลืมขั้นตอนวิธีการทำสิ่งต่างๆ
- จำบุคคลที่เคยเจอ เคยรู้จัก สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนไม่ได้ โดยจะคิดว่าเป็นคนแปลกหน้าที่พึ่งรู้จักกัน
- กลายเป็นคนที่มีอาการซึมเศร้า ร้องไห้ได้โดยไม่มีเหตุผล
- รู้สึกมีปัญหาในการใช้คำที่เหมาะสมในการพูดหรือเขียน หรือใช้ในการค้นหาสิ่งต่างๆ เช่น มักจะมีอาการนึกคำที่จะพูดในบทสนทนาไม่ค่อยออกหรือมีอาการพูดประโยคเดิมๆซ้ำๆ
- มีอารมณที่เปลี่ยนแปลงไปรวมถึงบุคลิกภาพด้วย เช่น มีอาการกังวล วิตกกังวลมากขึ้น ดูสับสนและมีอาการหวาดกลัว
- มีปัญหาในการใช้โทรศัพท์ ดูนาฬิกา อลเรื่องของการนับและทอนเงิน
- ไม่สามารถดูแลตนเองในเรื่องของความสะอาดได้ เช่นแปรงฟันเองไม่ได้ อาบน้ำเองไม่เป็น
- การเข้าใจในภาพที่เห็นหรือความสัมพันธ์ระหว่างภาพรู้สึกเข้าใจลำบาก เช่น การกะระยะทางยากยิ่งขึ้น อ่านหนังสือดูภาพประกอบไม่ค่อยเข้าใจ มีการบอกสีต่างยากขึ้นหรือบอกไม่ได้เลย
- มีความบกพร่องทางด้านการรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ทราบว่าของสิ่งนี้มีไว้ใช้ทำอะไร หรือไม่สามารถแยกแยะรสชาติอาหารหรือกลิ่นต่างๆได้
อาการของโรคอัลไซเมอร์
สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะหลักๆ ดังนี้
ระยะแรก
ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ สับสนในเรื่องของทิศทาง เริ่มมีอาการเครียด มีอาการซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดได้ง่าย แต่ก็ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันและยังสามารถสื่อสารในเรื่องต่างๆได้ ซึ่งระยะแรกนี้คนในครอบครัวหรือคนรอบข้างยังสามารถดูแลได้
ระยะกลาง
ผู้ป่วยจะมีอาการที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ความจำก็จะยิ่งแย่ลงอีก พฤติกรรมที่เคยทำเปลี่ยนไปมาก เช่นจากคนที่เคยใจเย็นก็เปลี่ยนไปราวกับคนละคน โมโหง่าย มีความกร้าวร้าวมากขึ้น พูดจาหยาบคายมากขึ้น หรือจากคนที่เคยมีอารมณ์ร้อนก็เปลี่ยนไปกลาบเป็นคนเก็บตัวและเงียบขรึม เมื่อผ่านไปเรื่อยๆ เริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือหรือรีโมททีวีได้ คิดอะไรก็ไม่ถูกต้อง ความคิดออกจากโลกของความเป็นจริง เช่น คิดว่ามีคนมาฆ่า ระแวงกับทุกๆเรื่อง อาการที่เกิดขึ้นในระยะนี้มักเป็นอาการที่ยากต่อการเข้าสังคมและดูแลผู้ป่วยในระยะนี้ได้ยาก
ระยะสุดท้าย
ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงอย่างมากที่สุด การตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สภาพร่างกายและสุภาพทรุดโทรมลงอย่างมาก ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้าง รับประทานอาหารและเคลื่อนไหวได้น้อยลง เริ่มไม่พูดไม่จากับคนรอบข้างและคนภายในครอบครัว ภูมิคุ้มกันอ่อนแอซึ่งมักนำไปสู่การติดเชื้อและมักจะเสียชีวิตในที่สุด โดยระยะเวลาทั้งหมดที่เริ่มตั้งแต่แรกวินิจฉัยจนเสียชีวิตจะมีระยะเวลาเฉลี่ยโดยประมาณ 8-10 ปี
10 วิธีป้องกันโรคอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม
- เล่นเกมฝึกสมองและมีการศึกษาเรียนรู้อย่างไม่หยุด อย่าให้สมองหยุดการคิดและหยุดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะสมองเมื่อยิ่งใช้ ยิ่งฉลาด ยิ่งแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นความรู้วิชาการหรือแม้แต่การใช้สมองเพื่อเล่นเกมก็ได้ทั้งนั้นเลย เช่น การอ่านหนังสือ คิดเลข เล่นเกมตอบปัญหา เป็นต้น
- มีการออกกำลังกายเป้นประจำอย่างสม่ำเสมอ โดยควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายได้มีการขยับบ้าง อีกทั้งการออกกำลังกายยังช่วยป้องกันการเกิดโรคอื่นๆได้อีกด้วย
- ให้เวลาตัวเองได้มีการผ่อนคลายบ้าง ความเครียดเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ควรให้ตัวเองได้พักผ่อนสมองและมีการผ่อนคลายบ้าง เพราะสภาพจิตใจก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากเช่นกัน
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ มีส่วนผสมของสารอาหารที่ช่วยในการบำรุงสมอง หรือรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมเป็นประจำเพื่อลดหรือบรรเทาอาการของโรคอัลไซเมอร์ได้บ้าง อีกทั้งยังบำรุงให้สมองดีขึ้นอีกด้วย
- พยายามรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไปอาจจะส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆแทรกซ้อนขึ้นมาได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะยิ่งทำให้อาการของโรคอัลไซเมอร์ยิ่งแย่ มีอาการที่ทรุดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นจึงควรมีการควบคุมน้ำหนักบ้าง
- เข้าสังคม ไม่จมอยู่กับความทุกข์ การเข้าสังคม เป็นการที่ได้พูดคุยหรือทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้สมองได้มีการทำงานบ้างและยังทำงานได้ดีขึ้น เช่น เข้าชมรมอาสาสมัคร เข้าชมรมร้องเพลง เพื่อให้มีการสร้างความบันเทิง ให้ตัวเองได้หัวเราะผ่อนคลาย หรือแม้แต่การเลี้ยงหลานเล็กๆ ก็จะช่วยให้สมองมีชีวิตชีวา สดชื่นแจ่มใส
- ทำกิจกรรมร่วมกับคนที่คุณรัก โดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะแรกเริ่มจะยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ ควรใช้ระยะเวลานี้ในการหากิจกรรมทำร่วมกับคนในครอบครัว เพื่อสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง เช่นการดูหนัง ฟังเพลง หรือการเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจให้กันและกันฟัง
- ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุทางศีรษะและสมอง เพราะถ้าสมองได้รับการกระทบกระเทือน อาจจะยิ่งทำให้อาการอัลไซเมอร์กำเริบมากยิ่งขึ้น จึงควรมีการระมัดระวังตนเองในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
- อย่าปล่อยให้หูเป็นอะไร เพราะการที่เรามีหูตึง หูเสีย ได้ยินอะไรไม่ชัดเจน จนทำให้การรับรู้เสียงต่างๆ แย่ลง จะส่งผลถึงสมองเพราะสมองจะถูกปิดกั้นการรับรู้ ทำให้ไม่ได้ใช้สมอง ซึ่งถือเป็นการกระทบต่อการพัฒนาสมองส่วนอื่นๆ และยังเป้นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย
- ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีควันบุหรี่ อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำร้ายสุขภาพ บุหรี่ส่งผลไปถึงโรคต่างๆได้ เมื่อร่างกายอ่อนแอ อาการของโรคอัลไซเมอร์ก็จะยิ่งทรุดโทรมลงตามไปด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำร้ายร่างกาย นั่นคือการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรืออยู่ห่างให้ไกลจากควันบุหรี่
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ 10 วิธีป้องกันโรคอัลไซเมอร์ที่เราได้นำมาฝากทุกๆคนในวันนี้ มีหลากหลายวิธีที่ช่วยในการบริหารสมอง ให้ตัวเราเองกลับมามีชีวิตชีวาดูสดใส และยังห่างไกลจากการเป็นอัลไซเมอร์อีกด้วย แต่เมื่อเป็นไปแล้วการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะต้องอาศัยเวลาและการเอาใจใส่ในการดูแลแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมากเหมือนกันนะ เพราะสุขภาพและสภาพจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะไม่ทำให้อาการทรุดลง ดังนั้นควรดูแลตัวเองให้ดี เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายที่ดีของเราให้คงอยู่ไปตลอดเลยนะคะ
ที่มา :
https://www.pinterest.com/pin/4925880815183878/
https://baanlalisa.com/blog/alzheimer-caring-for-your-loved-one-and-yourself/
https://www.thaihealth.or.th/Content/55361-8%20%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C.html
https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/Alzheimer-Signs
https://www.paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1
https://www.nakornthon.com/article/detail/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/alzheimer
https://www.pinterest.com/pin/116530709099217845/
https://www.pinterest.com/pin/300756081376049419/
https://www.pinterest.com/pin/598626975480070709/