ไหน ๆ ใครมีรอยแตกลายตามผิวบ้าง เราอยากเป็นเฮอร์ไมโอนี่ จะเสกให้รอยแตกลายของเธอหายไปให้หมดเลย ถึงแม้ว่าการมีรอยแตกลายไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย และไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ ในปัจจุบันทุกคนที่พบเจอปัญหารอยแตกลายถูกผลักดันให้มีความมั่นใจในผิวของตัวเอง แต่เราก็เชื่อว่ารอยแตกลายยังคงสร้างความไม่มั่นใจให้กับใครหลายคนอยู่ในตอนนี้ วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับรอยแตกลายแต่ละประเภท รวมถึงสาเหตุของปัญหา พร้อมเทคนิคดีๆ ที่จะช่วยดูแลรอยแตกลายให้ดูจางลง เพื่อให้ทุกคนได้กลับมามีความมั่นใจมากขึ้น มีภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงการแต่งตัวในชีวิตประจำวัน
ตอนนี้ทุกคนพร้อมที่จะโชว์ผิวสวยเรียบเนียนกันอีกครั้งแล้วหรือยังคะ ถ้าทุกคนพร้อมแล้วเราไปดูกันเลย ทำความรู้จักกับชนิดของรอยแตกลาย รอยแตกลายสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยรอยแตกลายจะเกิดขึ้นที่ผิวหนังชั้นกลาง และมักจะเกิดรอยแตกลายบริเวณที่มีไขมันสะสมอยู่มาก รอยแตกลายส่วนมากจะพบได้ที่บริเวณหน้าท้อง หน้าอก ต้นแขน สะโพก ก้น และต้นขา ซึ่งผิวของรอยแตกลายจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุ ตำแหน่งรอยแตกลาย ประเภทของผิว และระยะเวลาที่เกิดขึ้นมีทั้งหมด 2 ประเภท ดังนี้
1.) รอยแตกลายแดง (Striae Rubra)
เป็นรอยแตกลายใหม่ที่เกิดจากการยืดและหดตัวของผิวหนังที่รวดเร็วเกินไป ซึ่งรอยแตกลายแดงนี้เกิดจากการที่มีหลอดเลือดอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวมีสีแดงหรือสีม่วงขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละคน โดยรอยแตกลายแดงสามารถตอบสนองต่อการดูแลรักษาได้ง่ายกว่ารอยแตกลายขาว
ภาพที่ 1 รอยแตกลายแดง
2.) รอยแตกลายขาว (Striae Alba)
เป็นรอยแตกลายเก่าที่เคยเป็นรอยแตกลายแดงมาก่อน รอยแตกลายสีแดงที่เกิดมานานแล้วหลอดเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนังก็จะค่อย ๆ จางหายไป จนกลายเป็นรอยแตกลายสีขาวนั่นเอง ซึ่งรอยแตกลายขาวแบบนี้จะทำให้การดูแลรักษารอยแตกลายให้เลือนหายไปจากผิวได้ยากกว่ารอยแตกลายแดง
ภาพที่ 2 รอยแตกลายขาว
ปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่อาจก่อให้ผิวเกิดรอยแตกลาย
ปัจจัยที่ 1 พันธุกรรม
ทุกคนคะถ้าหากคนในครอบครัวมีประวัติผิวแตกลาย ก็อาจทำให้บุตรหลาย รวมถึงตัวเองมีโอกาสที่จะมีรอยแตกลายตามผิวด้วยเช่นกัน กลุ่มอาการที่นับว่าเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ได้แก่
- กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากร่างกายมีฮอร์โมนกลูคอรติคอยด์มากเกินกว่าปกติ สามารถพบได้ในกลุ่มคนที่เป็นเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง รวมถึงกลุ่มคนที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์บางชนิด ที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนขึ้นมาเอง หรือกลุ่มคนที่ได้รับฮอร์โมนนี้มาจากภายนอกร่างกายในรูปแบบของยาสเตียรอยด์ ซึ่งทำให้ผิวบอบบาง มีรอยแตกลาย และร่างกายมีไขมันส่วนเกินมากผิดปกติ
- กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan Syndrome) เป็นโรคที่ส่งผลกระทบกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มีหน้าที่ค้ำจุนโครงสร้างของร่างกายและจำเป็นต่อกระเจริญเติบโต ทำให้คนกลุ่มนี้มีส่วนต่าง ๆ ของร่างกายยืด ยาวออกมามากกว่าปกติ และอาจมีรอยแตกลายตามผิวหนังอย่างสะโพก และก้น โดยไม่จำเป็นต้องมีไขมันสะสม
- โรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos Syndrome หรือ EDS) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ทำหน้าที่ยึดกล้ามเนื้อเกิดความผิดปกติ ส่งผลกระทบให้ผิวหนังยืดและมากเกินไป ร่างกายเกิดรอยช้ำง่าย เมื่อเป็นแผลแล้วบาดแผลหายช้าอาจทำให้เกิดรอยแตกลายมากขึ้น
ปัจจัยที่ 2 การยืดและหดของผิวหนังอย่างรวดเร็ว
การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี แต่หากการยืดและหดตัวเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ ให้กล้ามเนื้อเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างการออกกำลังกายแบบ Weight Training เป็นการเปลี่ยนแปลงของสรีระร่างกายอย่างรวดเร็วมาก ๆ ซึ่งการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของน้ำหนักอย่างรวดเร็วทำให้สุขภาพผิวเกิดความอ่อนแอ ผิวแห้ง ขาดความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่น และเมื่อผิวขยายตัวขึ้นก็ส่งผลกระทบให้ผิวเกิดรอยแตกลายได้
ปัจจัยที่ 3 ความเครียดสะสม
ความเครียดสะสมที่เกิดจากระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนความเครียด ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไต อาจส่งผลให้เส้นใยและความยืดหยุ่นของผิวหนังอ่อนแอลง เมื่อผิวบอบบางก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยแตกลายได้ค่ะ
ปัจจัยที่ 4 การตั้งครรภ์
การพบเจอกับปัญหารอยแตกลายเป็นสิ่งที่ผู้ตั้งครรภ์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพผิว และขนาดท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ยืดไว ซึ่งหากผิวหนังขาดความยืดหยุ่น และความชุ่มชื้นก็จะทำให้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องแตกลายง่าย และมีรอยแดงอย่างชัดเจน
ปัจจัยที่ 5 สารคอร์ติโคสเตียรอยด์
คนที่ใช้สารคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) หรือปรอทในครีม กับผิวหนังมาเป็นเวลานาน รวมถึงการใช้ครีมที่มีสารสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานติดต่อกัน ส่งผลกระทบให้เกิดผิวแตกลายบริเวณที่ใช้สารนั้นได้ เนื่องจากสารเหล่านี้เป็นตัวทำลายความแข็งแรงของผิวหนัง ทำให้เกิดผิวแพ้ง่าย
5 เทคนิคดูแลผิวที่เกิดรอยแตกลาย
เทคนิคที่ 1 ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
เทคนิคแรกที่เรามาแจกนี้เป็นตัวช่วยป้องกันการเกิดรอยแตกลาย แถมยังช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง อย่างการควบคุมน้ำหนักตัวให้มีความสมดุลกับส่วนสูง ซึ่งทุกคนสามารถคำนวณได้จากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากเกินไป โดยวิธีการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานง่าย ๆ สามารถทำได้จากการออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือรับประทานอาหารที่ถูกหลักของโภชนาการค่ะ
เทคนิคที่ 2 ดื่มน้ำเปล่าเป็นประจำ
ถ้าหากใครดื่มน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดอาการขาดน้ำ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับสุขภาพผิวเป็นอย่างมาก ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ มากกว่า 8 แก้วต่อวันประมาณ 1.5-2 ลิตร เป็นประจำทุกวันให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อเติมเต็มความชุ่มชื้นให้ผิวอิ่มน้ำอยู่เสมอ ป้องกันผิวแห้งจากการสูญเสียน้ำ เมื่อผิวมีความชุ่มชื้นรอยแตกลายก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
เทคนิคที่ 3 สครับขัดผิว
เทคนิคนี้ช่วยให้ผิวคุณดูนุ่ม และเรียบเนียนมากขึ้น เพราะการสครับขัดผิวเป็นการขจัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วออก เพื่อให้ร่างกายสร้างเซลล์ผิวหนังขึ้นมา สามารถช่วยให้รอยแตกลายดูจางลงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสูตรสครับผิวที่ใช้ โดยเราแนะนำให้เลือกสูตรสครับจากวัตถุดิบที่มีกรดผลไม้ (AHA) และควรสครับขัดผิวเป็นประจำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แต่ไม่ควรสครับขัดผิวบ่อย เพราะจะทำให้ผิวบอบบาง ไม่แข็งแรงและเกิดรอยแตกลายซ้ำได้
ภาพที่ 3 สครับขัดผิว
เทคนิคที่ 4 ทาครีมบำรุงผิว
การทาครีมบำรุงผิวเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้อง และดูแลรักษาผิวที่เกิดรอยแตกลายได้อย่างอ่อนโยน รวมถึงผู้ที่ตั้งครรภ์ก็สามารถทาครีมบำรุงได้ เราแนะนำให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้น เพื่อให้ผิวกักเก็บความชุ่มชื่นได้ยาวนาน เพราะเมื่อผิวชุ่มชื้นก็จะมีความยืดหยุ่น ช่วยในเรื่องของรอยแตกลายต่าง ๆ ได้ง่าย
ภาพที่ 4 ทาครีมบำรุงผิว
ครีมบำรุงผิวที่ช่วยในเรื่องปัญหาต่าง ๆ ของรอยแตกลายควรมีส่วนผสมต่าง ๆ ดังนี้
- ครีมบำรุงผิวหรือออยล์ที่มีส่วนผสมของเรตินอล (Retinoids) หรือวิตามินเอ มีคุณสมบัติในการช่วยให้รอยแตกลายดูจางลง
- ครีมบำรุงผิวที่มีสารสกัดจากธรรมชาติ Crowberry อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ต้านการอักเสบ และต่อต้านอนุมูลอิสระ เหมาะกับผู้ที่ตั้งครรภ์ อีกทั้งยังมีความสามารถในการลดเลือนและยับยั้งการเกิดรอยแตกลาย เพิ่มความยืดหยุ่นให้ผิว ทำให้ฟื้นฟูผิวแตกลายให้กลับมาเนียนนุ่มได้
- ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของ PurCellin Oil วิตามินเอ และวิตามินอี ช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิว ปกป้องไม่ให้ผิวแห้ง ช่วยให้รอยแตกลายดูจางลง
- ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของใบบัวบก (Gotu Kola) และกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) สามารถช่วยป้องกันการเกิดรอยแตกลายได้น้ำมันโรสฮิป (Rosehip Oil) ไตรเทอร์พีน (Triterpenes) และวิตามินอี มีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของรอยแตกลายในระหว่างการตั้งครรภ์ ป้องกันการขยายตัวของรอยแตกลาย และป้องกันการเกิดรอยแตกลายใหม่
เทคนิคที่ 5 เลเซอร์รอยแตกลาย
การเลเซอร์รอยแตกลายด้วยนวัตกรรมจากเทคนิคทางการแพทย์ ในเทคนิคสุดท้ายนี้ตอบสามารถโจทย์การดูแลรักษาปัญหารอยแตกลายได้เห็นผล ปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด การเลเซอร์รอยแตกลายเป็นการปล่อยแสงกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนและเส้นใยอีลาสติน ช่วยให้เม็ดสีเกิดการสลายตัวได้ดีที่สุด ช่วยให้การดูแลรักษารอยแตกลายดูจางลง และผิวกลับมาเรียบเนียนขึ้น เพื่อการแก้ปัญหารอยแตกลายที่ต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลเซอร์รอยแตกลายจึงสามารถทำได้ทั้งหมด 3 วิธี ดังนี้
- V-Beam Laser
เป็นการเลเซอร์รอยแตกลายที่เหมาะกับรอยแตกลายแดงมาก ๆ สามารถช่วยกำจัดเส้นเลือดแดงใต้ผิวหนัง ให้สีดูจางลง ป้องกันการเกิดรอยแตกลายขาว - Fraxel Laser
เหมาะกับการเลเซอร์รอยแตกลายขาว ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ และส่งเสริมความยืดหยุ่นของผิว - Picoway Laser
เหมาะกับการเลเซอร์รอยแตกลายทุกประเภท สามารถเลเซอร์รอยแตกลายได้ทุกตำแหน่งของผิว ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินใหม่ โดยไม่เกิดการสะสมพลังงานความร้อน จึงไม่กระทบผิวข้างเคียง
รอยแตกลายสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดรอยแตกลาย สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหาผิวมีรอยแตกลาย เพื่อให้ผิวของทุกคนเรียบเนียน และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น สามารถนำเทคนิคดี ๆ ทั้ง 5 เทคนิคนี้ไปทำตามกันได้นะคะ ทั้งนี้การดูแลรักษารอยแตกลายได้อย่างเห็นผล ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของรอยแตกลาย และการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนเช่นกัน