หนึ่งในปัญหากวนใจบนใบหน้า นอกจากเรื่องริ้วรอยกับจุดด่างดำทั้งหลายแล้ว ก็สิวนี่แหละค่ะที่ทำยังไงก็แก้ไม่ตกสักที โดยเฉพาะสิวเม็ดเล็กๆ ที่ดูจะไม่มีพิษมีภัย ไม่บวม ไม่แดง ไม่อักเสบ มองเผินๆ ก็ดูคล้ายผดผื่นธรรมดา แต่ทำยังไงก็ไม่หายขาด เหมือนจะเป็นเรื้อรังซะอย่างนั้น แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่า “สิว” แล้ว ย่อมไม่ใช่แค่เรื่องสิวๆ อย่างที่คิด วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ “สิวหิน” หรือ “สิวข้าวสาร” สิวที่ไม่รุนแรงแต่กลับสร้างความกวนใจระดับแมกซ์กันค่ะ
สิวหินคืออะไร?
สิวหินหรือสิวข้าวสาร (Milia) คือสิวเม็ดเล็กๆ ที่เป็นเนื้องอกของต่อมเหงื่อชนิดไม่ร้ายแรง ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ โดยทั่วไปจะมีขนาดประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นตุ่ม ตื้นและแข็ง มีสีขาวไปจนถึงเหลืองอ่อนคล้ายสีของข้าวสาร พบมากบริเวณใบหน้า ถุงใต้ตา เปลือกตา หน้าผาก จมูก โหนกแก้ม สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย บางรายอาจเริ่มมีอาการตั้งแต่ยังเป็นทารก และพบบ่อยในชาวเอเชีย เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ
สิวหินเกิดจากอะไร?
ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดสิวหิน อาจขึ้นอยู่กับทั้งพฤติกรรมและกรรมพันธุ์ของแต่ละบุคคล รวมถึงชนิดของสิวหินด้วย โดยแบ่งสาเหตุหลักๆ ออกได้เป็น 7 ข้อ ดังนี้
1.สิวหินในเด็กทารก
อาจเกิดจากการที่ต่อมไขมันของทารกแรกเกิดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งพบมากถึง 40-50% โดยส่วนใหญ่จะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์
2. สิวหินปฐมภูมิ
อาจเกิดจากการรวมตัวของเส้นใยเคราตินกับไขมันใต้ผิวหนัง หรือแบคทีเรียกับเซลล์ผิวเก่าหมดสภาพที่ไม่ได้หลุดลอกออกไปตามธรรมชาติ เมื่อติดค้างและสะสมเป็นระยะเวลานานก็กลายเป็นสิวเม็ดเล็กๆ บริเวณใบหน้า รอบดวงตา หน้าผาก รอยพับจมูก หรืออวัยวะเพศ โดยอาจหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์หรืออาจเป็นติดต่อกันนานหลายเดือนก็ได้
3.สิวหินในวัยหนุ่มสาว
อาจเกิดจากอาการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น กลุ่มอาการการ์ดเนอร์ หรือความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อขึ้นตามอวัยวะในร่างกาย มะเร็งผิวหนังบางชนิด หรือความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่นๆ
4.สิวหินชนิดแบนราบ
อาจเกิดจากการติดเชื้อซึ่งเจริญเติบโตจนปรากฏเป็นปื้นผิวหนัง มีขนาดกว้างหลายเซนติเมตร หรือในบางรายอาจเกิดจากโรคผิวหนังบางชนิด ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ โดยส่วนใหญ่สิวหินชนิดแบนราบมักปรากฏบริเวณเปลือกตา แก้ม กราม หรือหลังใบหู พบในทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะหญิงวัยกลางคน
5.สิวหินชนิดบาดแผล
อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับบาดเจ็บทางผิวหนัง จนเกิดการรบกวนรูขุมขนและต่อมไขมันของผิวบริเวณนั้น เช่น ผิวหนังอักเสบ ผดผื่น ผื่นพุพอง แผลไฟไหม้รุนแรง หรือแผลจากการขัดถูกเสียดสีผิวหนังบริเวณใดบริเวณหนึ่งซ้ำๆ มักพบได้บ่อยบริเวณหลังมือหรือนิ้วมือ
6.สิวหินชนิดแตกได้
เป็นสิวหินชนิดที่พบได้ยาก แต่เมื่อเกิดขึ้นจะมีปริมาณมากและใช้เวลานานถึงจะหาย ตั้งแต่หลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน โดยสิวที่แตกออกจะเกิดแผลหรือแผลเป็น ในบางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักปรากฏบริเวณใบหน้า แขนช่วงบน หรือลำตัวช่วงบน
7.สิวหินที่เกิดจากยา
อาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาฟลูออโรยูราซิล ยาไฮโดรควิโนน ยา ครีม สกินแคร์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์
นอกจากนี้สิวหินยังเกิดจากกรรมพันธุ์ พฤติกรรม และการใช้ชีวิตด้วย เช่น ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นสิวหินมาก่อน ผู้ที่ต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งและโดนแดดเป็นประจำ การใช้เครื่องสำอางที่ไม่มีคุณภาพ การดูแลผิวอย่างไม่ถูกวิธี ฯลฯ โดยปกติสิวหินจะหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน หากเป็นนานเกิน 2-3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาต้นตอและสาเหตุจะได้หาทางรักษาได้อย่างถูกต้อง
ลักษณะของสิวหิน
โดยทั่วไปสิวหินจะมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อเล็กๆ คล้ายตุ่มตื้น นูนขึ้นบนผิวหนัง แข็งเล็กน้อย ขนาดประมาณ 1-3 มิลลิเมตร มีสีขาว เนื้อ ไปจนถึงเหลืองอ่อน คล้ายสีของเมล็ดข้าวสาร เมื่อคลำเจอจะไม่รู้สึกปวดหรือเจ็บ ไม่มีอาการอักเสบ บวม หรือแดง ไม่เป็นหนอง แต่จะทำให้ผิวขรุขระ ไม่เรียบเนียน จำนวนสิวหินจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและกรรมพันธุ์ รวมถึงชนิดของสิวหินด้วย โดยส่วนใหญ่มักมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
สิวหินขึ้นบริเวณไหนได้บ้าง?
สิวหินมักจะขึ้นบริเวณรอบดวงตา ทั้งถุงใต้ตา เปลือกตา หนังตาบน หนังตาล่าง ซึ่งเป็นบริเวณที่ผิวหนังบาง จึงบีบออกได้ยาก บ่อยครั้งจะขึ้นติดกันหลายเม็ดคล้ายปื้นบนผิวหนัง นอกจากรอบดวงตาแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นบริเวณอื่นได้เช่นกัน เช่น โหนกแก้ม หน้าผาก กราม จมูก รักแร้ สะดือ อวัยวะเพศ หัวหน่าว หน้าอก ฯลฯ และบางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย
แนวทางการรักษาและวิธีการกำจัดสิวหินมีอะไรบ้าง?
1.กดสิว
การกดสิวเป็นวิธีที่ง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง และสามารถทำได้เองที่บ้านโดยการใช้ไม้กดสิวสแตนเลส ซึ่งโดยทั่วไปจะมีด้านเข็มใช้สำหรับสะกิดหรือเขี่ยหัวสิว และอีกด้านหนึ่งสำหรับกดเพื่อดันหัวสิวออกมา โดยก่อนกดควรนำทั้งสองด้านไปแช่แอลกอฮอล์เพื่อทำความสะอาดก่อน แล้วนำสำลีชุบน้ำอุ่นมาเช็ดบริเวณที่เป็นสิวหินประมาณ 2-3 นาที เพื่อทำให้รูขุมขนเปิดและรากสิวอ่อนตัวลง ทำให้กดสิวออกมาได้ง่ายมากขึ้น เมื่อทำการใช้ด้านเข็มสะกิดหัวสิวจนมีหัวสิวโผล่ออกมาแล้ว ก็ใช้อีกด้านกดเน้นๆ เพื่อดันหัวสิวด้านในออกมา เมื่อหัวสิวหลุดออกมาจนหมดให้ใช้คอตตอนบัดหรือสำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดจนสะอาด
ขั้นตอนทั้งหมดควรทำอย่างระมัดระวัง เพราะหากทำรุนแรงเกินไปหรือไม่เชี่ยวชาญ อาจทำให้ผิวบริเวณนั้นอักเสบ ช้ำ แดง และเป็นรอยแผลเป็นได้ ถ้าไม่มั่นใจอาจไปพบแพทย์ที่คลินิกเสริมความงามเพื่อให้แพทย์กดออกให้ก็ได้ ก็จะเป็นการป้องกันการอักเสบของผิวได้อีกทางหนึ่ง
2.ใช้สกินแคร์ที่ช่วยกำจัดสิวหิน
การใช้สกินแคร์ถือเป็นวิธีพื้นฐานแรกๆ ที่เราจะนึกถึงเมื่ออยากขจัดปัญหาเกี่ยวกับผิวพรรณ โดยสกินแคร์ที่มีส่วนช่วยในการกำจัดสิวหินอาจมีหลายประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดใบหน้า ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดสิวอุดตัน ทำความสะอาดผิวหน้าและรูขุมขน ล้างเครื่องสำอางได้อย่างหมดจด
เซรั่ม ควรเป็นเซรั่มที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพราะจะช่วยเพิ่มความมันบนใบหน้า เป็นสาเหตุของการทำให้รูขุมขนอุดตัน กระตุ้นการเกิดสิวหินได้ โทนเนอร์ ควรเป็นโทนเนอร์ที่มีส่วนผสมของ AHA หรือ BHA ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลัดเซลล์ผิวบนใบหน้า เพียงเช็ดผิวด้วยโทนเนอร์หลังล้างหน้าเป็นประจำเช้า - เย็น จะทำให้สิวหินหลุดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
3.สครับผิว
ผู้ที่เป็นสิวหิน ควรสครับผิวหน้าสัปดาห์ละ 1 ครั้งเป็นอย่างต่ำ ด้วยผลิตภัณฑ์สูตรสครับหรือสูตรธรรมชาติ เช่น ปูนแดงผสมน้ำ ผสมให้เนื้อข้นกำลังดีแล้วนำมาแต้มตรงหัวสิวประมาณ 2 ครั้งต่อวัน สิวหินจะค่อยๆ แห้งแล้วหลุดออกมาเอง หรือสครับน้ำตาลทรายผสมน้ำผึ้ง สครับทั่วผิวหน้าอย่างเบามือ เพื่อป้องกันการรบกวนผิวจนระคายเคือง
4.ยิงเลเซอร์
การกำจัดสิวหินด้วยเลเซอร์เป็นวิธีการรักษาที่เป็นที่นิยมและมีประสิทธิภาพสูง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่แพงตามไปด้วย โดยด้วยทั่วไปจะใช้คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (Co2 Laser) ทำการกำจัดสิวหินโดยการยิงให้แผลตกสะเก็ด เพื่อให้สิวหินหรือไขมันที่อุดตันอยู่ใต้ผิวหนังหลุดออกมาในที่สุด การยิงเลเซอร์เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว เห็นผลได้ไว มีโอกาสเกิดแผลเป็นน้อย
แต่มีข้อควรระวังคือตำแหน่งของการยิงเลเซอร์ หากมีสิวหินอยู่บริเวณรอบดวงตาหรือพื้นที่ที่ผิวหนังบาง การยิงเลเซอร์อาจเสี่ยงต่อการทำให้เกิดอันตรายต่อผิวได้ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความเชี่ยวชาญและความน่าเชื่อถือของคลินิก แพทย์ เจ้าหน้าที่ รวมถึงคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ก็ควรได้มาตรฐานและการรับรองระดับสากล ที่สำคัญก่อนเข้ารับการยิงเลเซอร์ควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียด เพื่อวินิจฉัยชนิดของสิวหิน อาการ และสภาพผิวของแต่ละคนด้วย
เราจะดูแลและป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นสิวหินได้อย่างไร?
1.ลดการใช้เครื่องสำอางหรือใช้แต่เครื่องสำอางที่ปลอดภัย
มีส่วนประกอบจากธรรมชาติเป็นหลัก หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่ทำให้เกิดสารเคมีตกค้างบนใบหน้าหรือทำให้รูขุมขนอุดตัน ดูแลและรักษาความสะอาดของผิวหน้าอย่างสม่ำเสมอ ในทุกวันผิวเราต้องพบกับแสงแดด มลภาวะ ฝุ่นควัน และเครื่องสำอางมากมาย โดยเฉพาะสาวๆ ที่ต้องแต่งหน้าเป็นประจำ
บางครั้งอาจกำจัดสิ่งสกปรกเหล่านี้ออกไม่หมด กลายเป็นสิ่งตกค้างและอุดตันในรูขุมขนจนก่อให้เกิดสิวหินในที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น เราจึงควรล้างหน้าให้สะอาด ตั้งแต่การล้างเครื่องสำอางด้วย Make up remover และการล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว นอกจากนี้ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและเหมาะสมกับสภาพผิว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
2.หลีกเลี่ยงการใช้ครีมหรือเครื่องสำอาง
ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน น้ำหอม หรือสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
3.หลีกเลี่ยงการทานอาหารมันหรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง
เนื่องจากอาจทำให้เกิดการสะสมของไขมันบนผิวหนัง รวมถึงยังเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารอินซูลินและฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิวหิน
สรุป
สิวหินอาจเป็นสิวที่ดูไม่อันตรายและไม่ร้ายแรง แต่ถึงอย่างนั้นก็ก่อให้เกิดความรำคาญใจต่อผู้ที่เป็นได้ ทั้งความขรุขระ ไม่เรียบเนียน มองดูไม่กระจ่างใส รวมถึงในบางรายยังหายได้ช้า การป้องกันไม่ให้เกิดสิวหินหรือรีบรักษาให้หายขาดจึงเป็นการดีที่สุดค่ะ หากใครกำลังประสบปัญหานี้ลองไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดู เพื่อหาวิธีดูแลผิวและกำจัดสิวหินที่เหมาะสมกับตัวเองกันนะคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ค่ะ
อ้างอิง
https://www.pobpad.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3-2
https://women.kapook.com/view139281.html
https://www.eucerin.co.th/skin-concerns/acne-prone-skin/milia
https://aquaplus.co.th/what-is-milia-acne/